สรุปผลกระทบ Broadcom ซื้อ VMware ต่อ On-Premise, Local และ Public Cloud จาก CEO บ.คลาวด์

ที่มาที่ไปของ Deal

Broadcom เป็นบริษัท Semiconductor ยักษ์ใหญ่ของอเมริกา และเป็นบริษัทที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 11 ของโลก และ ณ วันที่ผมเขียนบทความนี้ (27/3/2024) บริษัทนี้ก็ใหญ่กว่า Tesla ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 14 ของโลก

ดีลนี้ปิดลงภายหลังจากที่ Broadcom ประกาศซื้อ VMware มาเกือบ 2 ปี ซึ่งถือว่าเป็นระยะเวลาที่นานมาก ซึ่งหลายๆคนคงอดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมประกาศซื้อตั้งนานแล้ว แต่กลับใช้เวลานานกว่าจะซื้อได้จริงๆ? ผมขอสรุปเรื่องนี้ให้ฟังจากประสบการณ์การทำงานในอดีตที่ผมเคยเป็นวาณิชธนกิจด้านการควบรวมกิจการ (M&A) มาก่อนที่ผมจะมาเริ่มทำงานที่ Cloud HM ครับ

ปกติแล้วระยะเวลาในการซื้อหรือควบรวมบริษัททั่วไป ไม่ควรใช้เวลานานถึง 2 ปีหลังจากประกาศซื้อ (ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการจ่ายตังค์ โอนหุ้น ฯลฯ) ซึ่งปกติแล้วไม่ควรใช้เวลาเกิน 6 เดือนโดยประมาณ ซึ่งใน 6 เดือนนั้น ก็จะเป็นเวลาที่บริษัทผู้ซื้อ (Acquirer) ทำ Due Diligence หรือภาษาทั่วๆ ไป คือ การเช็คของก่อนจ่ายตังค์ เหมือนเวลาเราจะซื้อรถมือสอง ก่อนโอนเงินก็ต้องเช็คสภาพรถกันหน่อย ว่าสภาพเป็นยังไง? เข้าศูนย์ตลอดไหม? มีการกรอไมล์หรือเปล่า?

เช่นเดียวกับการซื้อบริษัท เราก็ต้องเช็ครายได้ของบริษัทว่าเป็นรายได้จริงไหม? เงินเข้าจริงหรือไม่? หรือเป็นรายได้ทิพย์แบบที่เห็นกันได้บ่อยๆ จากบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ที่ต้องการปลอมแปลงรายได้เพื่อปั่นหุ้น หรือจะเช็คค่าใช้จ่ายต่างๆ ว่าเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการทำงานจริงหรือไม่? หรือเป็นค่าใช้จ่ายที่ผู้บริหารแอบเอาเงินไปซื้อรถหรูๆ บ้านหรูๆ หรือเช็คว่าบริษัทไม่มีคดีความที่ไม่เป็นที่เปิดเผย และนอกจากการเช็คของแล้ว ในระยะเวลา 6 เดือนนี้ก็จะเป็นช่วงเวลาที่เอาไว้ใช้เดินเอกสารซื้อขาย ไม่ว่าจะเป็นสัญญาซื้อขายหุ้น สัญญาอื่นๆ หรือเอกสารที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานราชการ โดยเฉพาะถ้าเป็นบริษัทมหาชนก็จะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับของตลาดหลักทรัพย์และกลต.

สำหรับสาเหตุที่ทำให้ดีลระหว่าง Broadcom กับ VMware ใช้เวลานานถึง 2 ปีนั้นเป็นเพราะ ข้อแรก ดีลนี้เป็นดีลขนาดใหญ่มากๆ ซึ่งถือว่าเป็นดีลที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของอุตสาหกรรม Tech ของโลก คิดเป็นเงินไทยคือ 2,221,864,000,000 บาท (สองล้านล้านบาท) หรือเท่ากับมูลค่าของบริษัทดังๆ ในประเทศไทยอย่าง PTT, AIS, CPALL และ SCB รวมกัน ซึ่งพอเป็นดีลใหญ่ก็ทำให้มีความซับซ้อนและทำให้ใช้เวลานาน และข้อสอง VMware แทบจะถือว่าเป็นผู้ผูกขาดตลาด Virtualization เพราะมี Market Share สูงถึง 80% ของตลาด เพราะฉะนั้นดีลนี้จึงเป็นที่เพ่งเล็งของภาครัฐทั่วโลก โดย Regulator ของประเทศใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา ยุโรป จีน และเกาหลีใต้ จำเป็นจะต้องอนุมัติการซื้อถึงจะทำ Transaction ได้ และนี่แหละเป็นเหตุผลที่ทำให้ดีลนี้ต้องเสียเวลาไปเกือบ 2 ปี โดยประเทศแรกๆ ที่อนุมัติก็คือสหรัฐฯ ตามด้วยยุโรป และเกาหลีใต้ แต่ประเทศสุดท้ายที่ต้องรอคอยกันอย่างยาวนานที่สุดก็คือประเทศจีน โดยคนคาดคะเนว่าเหตุผลที่ว่าจีนอยากจะชะลอการอนุมัติเพื่อเป็น Tactic ในการต่อรองทางด้านการค้ากับสหรัฐฯ โดยจีนได้ชะลอการอนุมัติตั้งแต่ราวๆ กลางปี 2023 และลากยาวมาเรื่อยๆ เพื่อรอดูท่าทีจากการที่ประธานาธิบดีจีนได้นัดเจอกับ Joe Biden ประธานาธิบดีอเมริกาที่ San Francisco ตอนปลายปีที่ผ่านมา

ซึ่งท้ายที่สุดผู้นำทั้งสองฝ่ายได้พบกันและคงเจรจากันได้ลงตัวในระดับหนึ่ง หลังจากเจอกันไม่กี่วัน Regulator ที่จีนก็ได้อนุมัติดีลนี้ทันที โดยในงาน Dinner ระหว่างผู้นำของทั้งสองประเทศนั้นเต็มไปด้วยบุคคลสำคัญๆ ของวงการธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น Tim Cook CEO ของ Apple, Satya Nadella CEO ของ Microsoft, Elon Musk CEO ของ Tesla รวมถึง Hock Tan CEO Broadcom ด้วย โดยงานนี้ข่าวบอกว่า Hock Tan ยอมเสียเงินถึง $40,000 USD (1.5 ล้านบาท) เพื่อที่จะได้นั่งร่วมโต๊ะทานข้าวกับประธานาธิบดีจีนและก็ไม่น่าแปลกใจที่เขาจะสามารถดันให้ดีลนี้ผ่านไปได้ และทำไม Broadcom จะต้องสนใจว่าจีนจะอนุมัติหรือไม่? ก็เพราะรายได้ราวๆ 30% ของ Broadcom มาจากจีน ซึ่งถ้าทางการจีนไม่ Happy ก็อาจส่งผลกระทบกับรายได้ก้อนใหญ่ของ Broadcom ได้

หลังการเคลียร์ด่านอนุมัติ จน Broadcom ซื้อ VMware

หลังจากที่ Hock Tan ได้ทานข้าวกับท่านประธานาธิบดีจีนทุกสิ่งทุกอย่างก็ไปด้วยความเร็วแสง และพอ Broadcom ได้เข้ามาเป็นเจ้าของอย่างเต็มตัวก็ได้ออกนโยบายที่สั่นสะเทือนไปทั้งวงการรวมถึงในบริษัทเองก็ด้วย อย่างแรก คือ การประกาศยกเลิก Partner ทุกรายของ VMware Reseller (SI) รวมถึง Cloud Provider และ Distributor ซึ่งทำเอาช็อกกันทั้งวงการ และต่อมาก็ได้ Layoff พนักงานทั่วโลกเป็นจำนวนมากรวมถึงในไทยด้วยเช่นกัน นอกจากนั้นยังสั่งปิด Office หลายที่ทั่วโลก ซึ่งเท่าที่ผมทราบมา Office ที่ไทยและสิงคโปร์ก็โดนด้วย เข้าใจว่าพนักงานหลายๆ คนคงใจตุ้มๆต่อมๆ กันมาตลอดสองปี เพราะตั้งแต่ประกาศจะซื้อก็น่าจะพอรู้ๆ กันอยู่แล้วว่าจะต้องมีการ Layoff เกิดขึ้น หลายๆ คนอาจมองว่าการ Layoff เป็นเรื่องไม่ดี แต่เพื่อให้แฟร์กับ Broadcom เท่าที่ผมทราบมาพนักงานที่ถูกจ้างออกถือว่าได้ Package ที่ค่อนข้างแฟร์เลยทีเดียว หลายๆ คนได้ Package สูงถึง 1 ปี ซึ่งคนทำธุรกิจก็ต้องอยากได้กำไรอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการหาช่องทางที่จะ Optimize ก็เป็นเรื่องปกติ

แต่แค่นั้นยังไม่พอ อีกสิ่งที่ทำให้ทุกคนช็อกไปตามๆ กัน โดยเฉพาะลูกค้าที่ใช้ VMware On-Premise คือ การยกเลิกการขาย Perpetual License และเปลี่ยนทุกอย่างมาเป็นแบบ Subscription นอกจากนั้นยังจัด Product Package ของ VMware ใหม่เพื่อหลีกเลี่ยงการซื้อแบบ A La Carte หรือเทียบง่ายๆ ก็คือ คุณต้องซื้อ Office 365 ที่มีทั้ง Word, PowerPoint, Excel ห้ามซื้อแค่ Excel แยกเดี่ยวๆ ซึ่งหากมองในมุมอุตสาหกรรม Software ก็ถือว่าในเป็นเรื่องปกติในยุคสมัยนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องSubscription และการขายแบบ Bundle ก็ตาม

สำหรับลูกค้าหลายๆ รายการเปลี่ยนแปลงพวกนี้ก็อาจจะทำให้เกิดความไม่พอใจได้ ซึ่งผมก็เข้าใจ แต่ถ้าจะมองจริงๆ ถือว่า VMware ทำเรื่องพวกนี้ช้ากว่าตลาดไปเยอะ โดยผมคิดว่าที่ทำช้าเพราะก่อนหน้านี้ VMware ค่อนข้าง Traditional จะทำอะไรก็ต้องมีกรอบ ต้องเกรงใจคนในบริษัทที่ส่วนมากอยู่มานาน ต้องเกรงใจ Partner ต้องเกรงใจลูกค้า ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้และเป็นเรื่องปกติ แต่สำหรับ Broadcom ที่เป็นคนใหม่ ไม่ได้มีความผูกพันกับพนักงานเก่า หรือ Partner เก่า หรือแม้แต่ลูกค้าเก่า ก็ทำให้ตัดสินใจได้อย่างเด็ดขาดมากกว่า เอาจริงๆ ตอนนี้ Enterprise IT หลายๆ ที่ก็บังคับเปลี่ยนมาเป็น Subscription กันหมด เท่าที่เห็นล่าสุดก็คือ Firewall Vendor เจ้าใหญ่ที่เปลี่ยนมาเป็น Model Flex (Subscription) เช่นเดียวกัน

การเปลี่ยนแปลงที่ผมได้กล่าวไปด้านบนก็ถือว่าส่งผลกระทบทางด้านจิตใจค่อนข้างเยอะ ซึ่งผมเองก็เจอมากับตัวแล้วก็เห็นใจ Partner และลูกค้าทุกราย เพราะการบังคับใช้นโยบายใหม่ๆ ของ Broadcom ถือว่าทำได้ไม่ได้ดีเท่าที่ควร (ซึ่งทาง Broadcom เองก็ออกมายืดอกยอมรับ) โดยเฉพาะเรื่องการสื่อสารที่ออกมาแบบงงๆ อยู่ดีๆ ก็ประกาศออกมา ไม่มีการเกริ่นก่อน เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ไม่มีคำตอบสำหรับคำถามง่ายๆจากลูกค้า และได้ข่าวมาว่านโยบายพวกนี้ไม่ได้แค่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมากันทุกวัน แต่เปลี่ยนกันเป็นรายชั่วโมง แต่สิ่งนี้ก็เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ เพราะดูจาก Style ของคุณ Hock Tan แล้วเป็นคนที่ดูค้าขายเก่ง พอคิดอะไรได้แล้วก็อยากลงมือทำเลย และถ้าผิดพลาด ไม่เวิร์ค หรือมีช่องโหว่ก็ปรับกันไปหน้างาน ถ้าให้เรียกแบบ In Trend หน่อย แกก็เน้นความ Agile

ผลกระทบกับลูกค้าที่ใช้ VMware On-Premise

สำหรับลูกค้าที่ใช้ VMware On-Premise ผลกระทบที่จะต้องเจอก็คือ ไม่สามารถซื้อ MA สำหรับ Perpetual License ได้ และต้องซื้อเป็น Subscription License เท่านั้น ซึ่งสำหรับคนที่ใช้ Product VMware หลายตัว (เช่น vSphere, vSAN และอื่นๆ) อาจจะได้รับผลกระทบน้อยกว่าลูกค้าที่ใช้ Product VMware แค่เพียงไม่กี่ตัว เช่น ใช้แค่ ESXi เพราะจะโดนบังคับซื้อ VMware Cloud Foundation (VCF) แทน ซึ่งในนั้นจะมี Product VMware รวมอยู่หลายตัว เช่น vSphere, NSX, vSAN, Aria และ Tanzu โดยเหตุผลที่ Broadcom ทำแบบนี้เพราะต้องการจะเน้นการขายลูกค้าที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งก็เป็นเหตุผลทางธุรกิจที่เข้าท่า แต่ก็ทำให้ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบไม่พอใจเป็นจำนวนมากเช่นกัน

ส่วนตัวผมคิดว่าการยกเลิก Perpetual และเปลี่ยนเป็น Subscription เป็นเรื่องที่ไม่ช้าก็เร็วจะต้องเกิดขึ้นอยู่แล้ว เพราะ Vendor ทุกรายก็ต้องปรับตัวไปในทิศทางนี้กันหมด และเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ ส่วนเรื่องที่จัด Product เป็นแบบ Bundle แทนขายแบบ A La Carte ทางเราก็โชคดีที่ใช้ Product VMware หลายตัวเลยไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่ผมเห็นใจลูกค้าที่ได้รับผลกระทบเพราะอาจจะต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นหลายเท่าจากการถูกบังคับให้ซื้อแบบ Bundle แทน

สำหรับลูกค้าที่ต่อสัญญาแบบ Perpetual ไปก่อนที่นโยบาย Subscription จะประกาศใช้ ก็ถือว่าโชคดีไป เพราะ Broadcom ยังให้สิทธิลูกค้าได้ใช้บริการต่อจนกว่าจะหมดสัญญาและค่อยเปลี่ยนไปใช้แบบ Subscription แทน

ทีนี้คำถามที่ผมมักจะเจอบ่อยๆ จากลูกค้าที่รู้สึกผิดหวังกับ Broadcom ก็คือ มีทางเลือกอื่นๆ อีกหรือไม่? เราจะต้องวางแผนยังไง? สำหรับผม ผมมองว่ามีทางเลือก ดังนี้

  1. แทนที่ด้วย Nutanix – ในบรรดาทางเลือกต่างๆ ทางเลือกนี้ถือว่าใช้ได้ไม่ยากเกินไป เพราะกระบวนการย้ายจาก ESXi ไป AHV ถือว่าค่อนข้างตรงไปตรงมา ไม่ยาก มี Tools ให้ใช้เยอะ และมีคนเคยทำมาเยอะแล้ว นอกจากนั้นเทคโนโลยีของ Nutanix ก็ถือว่า Mature แล้ว และยังเข้ากับ Ecosystem IT ได้ดี ไม่ว่าจะเป็น Firewall, Network, ระบบ Monitoring หรือ Backup & Replication ก็ตาม ในด้านราคาก็ถือว่าสมเหตุสมผล แต่สิ่งที่ควรระวังเพียงอย่างเดียวที่ผมคิดก็คือ ในอนาคตก็อาจจะเจอปัญหาเดิมแบบที่เจอกับ VMware ตอนถูกซื้อ เพราะจริงๆ แล้ว Nutanix ก็เปิดมาราวๆ 10 ปี และขาดทุนทุกปี (เพิ่งจะได้กำไรใน Q2 ปี 2024) ซึ่งบริษัทแนวนี้มักจะเน้นการสร้างเทคโนโลยีและเก็บลูกค้าให้มากพอที่จะดึงดูดความสนใจของบริษัทยักษ์ใหญ่เพื่อให้เข้ามาซื้อบริษัท โดยราวๆ 2 ปีที่แล้ว ก็มีข่าวมาว่า HPE สนใจอยากซื้อ Nutanix แต่แล้วท้ายที่สุดดีลนี้ก็ไม่เกิด (ซึ่งเป็นเรื่องปกติในวงการ M&A ครับ) และเร็วๆ นี้ก็มีข่าวว่า Cisco ก็สนใจจะซื้อ Nutanix เพื่อไปแทนที่ HyperFlex (HCI ของ Cisco) ซึ่งถ้าบริษัทถูกซื้อไปก็ไม่รู้ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายอะไรบ้างหรือจะเลี้ยงโตหรือไม่ เพราะเชื่อว่าหลายๆ คนก็น่าจะเคยเห็นการที่ Cisco เข้าไปซื้อบริษัทหลายๆ บริษัทที่อาจจะเลี้ยงแล้วไม่โต

  2. แทนที่ด้วยอย่างอื่น – ทางเลือกนี้ยากกว่าการเปลี่ยนไปใช้ Nutanix เพราะขนาดของ VMware เมื่อรวมกับ Nutanix แล้วก็น่าจะเกินกว่า 90% ของตลาด ซึ่งทำให้เทคโนโลยีของทางเลือกอื่นๆ ยังไม่ค่อย Mature เท่าที่ควร แต่ถ้ามาดูจริงๆ ก็น่าจะมี OpenStack ที่ Base On Opensource ซึ่งถือว่าเป็นเทคโนโลยีที่ไม่ง่ายสำหรับบริษัทในไทย เพราะ IT จะต้องพึ่งพาตัวเองเพื่อ Implement, Manage และ Maintain ระบบ เวลามีปัญหาหรือสงสัยอะไร จะยกหูหรือส่งอีเมลหาใครก็ไม่ได้ ต้องนั่งงมจาก Community Board อย่างเดียว นอกจากนั้นยังมีอีกทางเลือกคือการใช้ OpenStack และซื้อ Support ผ่านบริษัทที่เชี่ยวชาญด้าน OpenStack นั้นๆ เช่น Mirantis ซึ่งก็ถือเป็นทางเลือกที่ไม่แย่แต่ก็ยังมีค่าใช้จ่ายเพิ่มอยู่ดี นอกจากนั้นสิ่งที่ยากสุดอาจเป็นการหาพนักงานที่มีทักษะด้าน OpenStack มากพอที่จะไปคุยกับฝั่ง Support อย่าง Mirantis รู้เรื่อง ส่วนในด้านการ Compatibility กับ Ecosystem ของ Enterprise IT ไม่ว่าจะเป็น Firewall, Network, ระบบ Monitoring หรือ Backup & Replication ก็ถือว่ายากกว่าพวก VMware และ Nutanix อยู่ในระดับหนึ่ง

  3. อีกทางเลือกก็คือพวก Vendor จีน เช่น Sangfor, Huawei ฯลฯ ที่ผมว่าหากเทียบแล้วก็ถือว่ายังค่อนข้างเป็นทางเลือกที่ท้าทาย ด้วยความที่เทคโนโลยียังไม่ Mature และปัญหาใหญ่ที่ตามมาอย่างหนึ่งเลยคือเรื่อง Compatibility กับ Ecosystem ของฝรั่ง ไม่ว่าจะเป็น Firewall, Network, ระบบ Monitoring หรือ Backup & Replication ซึ่งหลายๆ ครั้งเวลาเจอปัญหาและถ้า Vendor ฝรั่งรู้ว่าใช้ระบบของจีน ก็จะไม่ค่อยเต็มใจ Support เท่าไหร่นัก แม้แต่ Doc ก็ไม่มีให้ หรืออาจจะร้ายแรงถึงขั้นที่รัฐบาลประกาศคว่ำบาตรกันและกัน ตามมาด้วยปัญหาหลายๆ อย่าง เช่น ไม่สามารถใช้ Windows ได้ เหมือนที่ Google ไม่ Support Android บน Huawei นอกจากนั้นอีกปัญหาที่ผมพบเจอก็คือเรื่องภาษา ทีม IT บริษัทไทยหลายๆ ที่อาจจะไม่ค่อยถนัดภาษาอังกฤษ และไปเจอคนจีนที่ก็ไม่ถนัดภาษาอังกฤษเช่นกันทำให้การคุย Technical ตอนซื้อขายและหลังการขายค่อนข้างลำบาก ต่างกับ Vendor ฝรั่งที่อย่างน้อยก็ใช้ภาษาอังกฤษได้ ถึงหลายครั้งๆ สำเนียงอินเดียอาจจะฟังยากหน่อย แต่อย่างน้อยก็ใช้ Writing ได้แบบไม่งง และอีกทางเลือกที่หลายบริษัทอาจจะคิดถึงก็คือพวก AWS Outpost, Azure Stack ที่เอาง่ายๆ คือการเอา Mini Public Cloud มารันอยู่บน On-Premise หรือ Colo ของตัวเอง ซึ่งก็ถือว่าเป็นทางเลือกที่ High Tech แต่ด้วยวิธีการคิดค่าใช้จ่ายที่คล้ายๆ กับ Public Cloud อาจจะทำให้ทางเลือกนี้ไม่ค่อยสมเหตุสมผลในเชิง Finance เท่าไหร่

4. Migrate ขึ้น Local Cloud – ทางเลือกนี้ก็อาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่เป็น Ideal ที่สุดสำหรับคนที่ยังจำเป็นที่จะต้องมี Data Center On-premise ถึงแม้ผมจะทำงานอยู่บริษัท Cloud แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผมเข้าใจได้ ในยุคที่หลายๆ คนชอบพูดถึงแต่ Cloud โดยเฉพาะ Vendor ผมกลับมองว่ามันมี Workload บางส่วนที่จริงๆ ควรอยู่บน On-Premise โดยเฉพาะพวกที่ต้องการ Latency ต่ำๆ หรือพวกที่ไม่ได้ Critical มากเพื่อที่จะประหยัดค่าใช้จ่าย เพราะเอาจริงๆ Cloud บางครั้งก็ไม่ได้ให้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดในทุกๆ Scenario ทั้งเรื่องราคา หรือ Performance และสำหรับหลายๆ สถานการณ์การใช้ Local Cloud ก็เหมาะกว่า และหากคุณกำลังสนใจทางเลือกนี้อยู่ สิ่งที่ควรพิจารณา คือ Provider โดยเฉพาะถ้าคุณต้องการใช้ VMware Cloud เพราะหลังจากที่ VMware โดน Broadcom ซื้อไป ก็ได้ตัดผู้ให้บริการเอกชนไปจนหมดจนเหลือแค่เจ้าใหญ่ ได้แก่ AIS และ Cloud HM ส่วนเจ้าอื่นๆ ที่เคยให้บริการอยู่หากต้องการให้บริการต่อก็ต้องซื้อ License ผ่าน AIS หรือ Cloud HM แทน โดย VMware หรือ Broadcom จะไม่ให้การ Support โดยตรงกับ Provider ที่มาซื้อ License ต่ออีกที แต่จะเป็นความรับผิดชอบของ AIS และ Cloud HM ในการดูแล Provider นั้นๆ ซึ่งทางเลือกนี้ก็ถือว่าเป็นทางเลือกที่สามารถลดความปวดหัวไปได้เยอะ การ Migrate จาก VMware to VMware ก็ทำได้ง่าย แต่อาจไม่เหมาะกับคนที่ต้องการมี On-Premise อยู่จริงๆ

5. Migrate ขึ้น Public Cloud – ทางเลือกนี้น่าจะเป็นทางเลือกสุดท้ายสำหรับหลายๆ คน เพราะเป็นทางเลือกที่ห่างที่สุด (และไกลที่สุด) จาก On-Premise ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าใช้จ่ายที่เป็นแบบ Pay Per Use ไม่สามารถใช้แบบ Fixed ได้ หรือจะเป็นเทคโนโลยีที่มีความแตกต่างจากระบบ VMware แบบเดิมบน On-Premise ค่อนข้างเยอะ ทั้งนี้หากมองสิ่งนี้เป็นทางเลือกผมแนะนำให้ลองดูเป็นแบบ Long Term Commit เช่น Reserved Instance (RI) บน AWS ครับ

6. คงอยู่กับ VMware – หลายคนอาจเสียความรู้สึกกับนโยบายใหม่ๆของ VMware แต่ Option นี้ก็อาจจะเป็น Option ที่ Make Sense เพราะอย่างน้อยความเปลี่ยนแปลงหลังจากนี้น่าจะน้อยลงแล้วเพราะเรื่องใหญ่ๆออกมาหมดแล้วและก็ต้องยอมรับการคงอยู่ก็น่าจะเป็น Option ที่ง่ายที่สุด (ไม่ต้องมี Downtime, ไม่ต้องหาคนที่มี Skill ใหม่ๆ, Cost ชัดเจนแล้ว, Technology Mature แล้ว) การย้ายไป Platform อื่นอาจเป็นกานหนีเสื้อปะจระเข้ก็ได้

ผลกระทบกับลูกค้าที่ใช้ Local Cloud

สำหรับลูกค้า Local Cloud ที่ใช้ VMware จะต้องเริ่มเกริ่นจากนโยบายของ Broadcom ที่ต้องการลดค่าใช้จ่าย และเน้นการหาลูกค้าและ Partner รายใหญ่ๆ เพื่อเน้นการขยายรายได้ ตามหลัก 80/20 20/80 หรือ 80% ของลูกค้าสร้างรายได้ 20% ของรายได้ทั้งหมด และ 20% ของลูกค้าสร้างรายได้ 80% ของรายได้ทั้งหมด ด้วยเหตุนี้ VMware Cloud Service Provider ที่เดิมทีมีมากกว่า 4,000 รายทั่วโลก จะถูกคัดเหลือแค่ราวๆ 200-300 ราย โดยในไทยจะเหลือแค่ 3 รายจากประมาณ 20 ราย ซึ่งปัจจุบันก็ได้ประกาศออกมาอย่างเป็นทางการแล้วว่าเหลือผู้ให้บริการเอกชนแค่สองราย คือ Cloud HM ซึ่งเป็นบริษัทที่ผมเป็น CEO อยู่ และ AIS และสำหรับภาครัฐก็จะมีแค่ NT เท่านั้น

คำถามก็คือแล้วรายเล็กอื่นๆ ที่ให้บริการอยู่จะเกิดอะไรขึ้น? ณ ปัจจุบัน Broadcom ได้ออกนโยบายที่เรียกว่า Whitelabel หรือการให้ Cloud Provider ที่ได้รับการเลือก (Cloud HM และ AIS) สามารถเอา License VMware สำหรับ Cloud Provider ไปขายต่อให้แก่ Cloud Provider เจ้าเล็กอื่นๆ ที่ไม่ได้รับเลือกจาก Broadcom (Secondary Provider) ได้ โดยเงื่อนไขคือ Cloud Provider ที่ Broadcom เลือกนั้นจะต้องให้บริการ Technical Support ในระดับ Tier 1 และ Tier 2 ให้แก่ Secondary Provider โดย Secondary Provider จะไม่สามารถเปิดเคสกับ VMware ได้

ดังนั้นสำหรับบริษัทไหนที่ใช้ Cloud HM หรือ AIS อยู่แล้วก็จะไม่ได้รับผลกระทบอะไร แต่หากใช้บริการจากผู้ให้บริการรายอื่นอยู่ อาจจะต้องลองถามผู้ให้บริการรายนั้นๆ ดูว่านโยบายสำหรับการให้บริการ VMware ในอนาคตเป็นยังไง? เพราะผมทราบมาว่าผู้ให้บริการบางรายอาจหยุดให้บริการต่อ เพราะมองว่าจะไม่ได้รับการ Support จาก Vendor เท่าที่ควร บางรายก็จะให้บริการต่อแต่อาจจำเป็นที่ต้องขึ้นราคา บางรายก็มี Platform อื่นๆ เช่น Nutanix หรือ OpenStack มารองรับ แต่หากเทียบกับ VMware ทั้งสองทางเลือกนั้นก็ยังถือว่าไม่ Mature พอรวมถึง Feature ระดับ Enterprise ก็ยังไม่ถึงระดับ VMware โดยลูกค้าหลายๆ รายที่ผมได้คุยด้วยก็ยังอยากที่จะใช้ VMware อยู่ด้วยเหตุผลหลายๆ อย่าง เช่น Feature ความคุ้นเคย หรือความCompatibility กับ On-Premise ของตัวเองที่ใช้ VMware เช่นกัน

ผลกระทบกับลูกค้าที่ใช้ Public Cloud

สำหรับบริษัทที่ใช้ Public Cloud นั้น ผลกระทบน่าจะมีไม่เยอะมาก หรือหากมีก็อาจจะมีนโยบายย้าย On-Premise และ/หรือ Local Cloud ขึ้น Public Cloud โดยผมคิดว่ามีโอกาสสูงที่ TCO อาจเพิ่มขึ้นอย่างมีนัย ทั้งนี้ทั้งนั้นคงต้องวางแผน FinOps ดีๆ

ทำไม VMware ต้องขายบริษัท ?

หลายๆ ท่านคงสงสัยว่าทำไม VMware ต้องขายบริษัท เพราะผลประกอบการไม่ดีเหรอ? จริงๆ แล้วไม่ใช่ครับ VMware ทำกำไรได้ค่อนข้างดีมาก โดยปี 2023 ทำกำไรราวๆ 30,000 กว่าล้านบาท หรือเท่าๆ กับธนาคารหลักขนาดใหญ่ในบ้านเรา เช่น SCB หรือ KBANK

แต่เหตุผลที่ต้องการขายเพราะว่าเจ้าของ VMware เดิมซึ่งก็คือ Dell มีหนี้สินค่อนข้างเยอะ ทางเจ้าของ Dell หรือ Michael Dell จึงต้องการขาย VMware เพื่อเอาเงินมาใช้หนี้ของ Dell ซึ่งถ้าย้อนกลับไปปี 2013 ที่ Dell ซื้อ EMC และได้ VMware พ่วงมาด้วยเพราะ EMC เป็นเจ้าของ ตอนนั้น Dell สามารถทำกำไรถึง 7 เท่าภายในระยะเวลา 10 ปีหลังจากที่ซื้อ VMware มา ซึ่งก็ถือว่าเป็นผลตอบแทนที่สวยงาม

ทำไมต้องขายให้ Broadcom ?

Credit Photo: The New York Times

จริงๆ น่าจะมีหลายๆ บริษัทที่สนใจจะซื้อ VMware แต่ด้วยความเป็นเจ้าตลาดที่ครองตลาด Virtualization เกินกว่า 80% หรือแทบจะเรียกว่าผูกขาด จึงทำให้ VMware เป็นที่เพ่งเล็งจาก Regulator เพราะ Regulator จะไม่อนุมัติหากผู้ซื้อนั้นมีธุรกิจที่จะทำให้เกิดการผูกขาดตลาดมากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้บริษัท Enterprise IT ที่อาจสนใจจะซื้อ VMware อย่าง เช่น Microsoft, Cisco, Oracle แทบจะถูกตัดสิทธิทั้งหมด ประกอบกับขนาดบริษัทของ VMware ที่มีขนาดใหญ่มากๆ ผู้ที่จะซื้อได้ก็ต้องใหญ่ยิ่งกว่า ดังนั้นจึงสามารถตัด Choice ออกไปได้อีกเยอะ ก็เลยเป็นสาเหตุให้เหลือแค่ Broadcom ที่ธุรกิจเดิมไม่ได้เกี่ยวข้องกันมากนัก (ทำ Hardware) และใหญ่พอที่จะมีเงินซื้อ VMware ได้

ก่อนจะจบ ผมขอเรียนว่าทั้งหมดนี้เป็นแค่ความคิดส่วนตัวของผมนะครับ บางส่วนอาจผิดบ้างและไม่ได้เขียนละเอียดมากนัก แต่มาจากความเข้าใจของผมเอง ซึ่งผมต้องขออภัยเอาไว้ล่วงหน้าด้วยนะครับ ผมหวังว่าบทความนี้คงเป็นประโยชน์กับใครหลายๆ คนที่อาจยังงงอยู่ว่าตัวเองจะต้องทำยังไงกันต่อ แต่ผมว่าข้อสรุปอย่างหนึ่งที่ได้ ก็คือ VMware จะยังอยู่กับเราไปอีกนานครับ

— CEO บริษัทคลาวด์ชั้นนำของไทย