Headless E-Commerce คืออะไร และเปิดใช้อย่างไรบน GCP

การตลาดและ E-Commerce ในยุคปัจจุบันจะให้ความสำคัญกับการดำเนินการซื้อขายโดยกระตุ้นความรู้สึก หรือเปิดประสบการณ์ของลูกค้าให้ตอบสนองต่อการใช้งานผลิตภัณฑ์ที่อยู่ตรงหน้ามากที่สุด

Headless E-Commerce เป็น Buzz Word ที่เริ่มเข้ามาเป็นที่รู้จักในวงการ E-Commerce และเป็นที่รู้จักมากขึ้นในช่วง COVID เพื่อรับรองการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของการซื้อขาย การเปลี่ยนแปลงในกระบวนการและพฤติกรรมของผู้บริโภค และ การปรับตัวของธุรกิจที่จะตอบสนองกับความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว

ในบทความนี้ เราจะนำเสนอว่า Headless E-Commerce คืออะไร มีความแตกต่างกับ E-Commerce ดั้งเดิมอย่างไร พร้อมทั้งเสริมข้อดีของการนำ Headless E-Commerce ไปปรับใช้ และเทคโนโลยีในการทำ Headless E-Commerce เบื้องต้น

ก่อนอื่นมาดูกันก่อนว่า E-Commerce แบบดั้งเดิมเป็นอย่างไร 

E-Commerce แบบดั้งเดิม

E-Commerce แบบดั้งเดิมหรือแบบ monolithic จะออกแบบมาให้ Front end และ Back end ติดกันอย่างเหนียวแน่น พูดให้เข้าใจง่ายๆก็คือ ทุกส่วนของสิ่งที่ลูกค้าเห็น (Front end) จะเขียนมาสำหรับใช้กับระบบหลังบ้าน (Back end) ระบบเดียวกันเท่านั้น 

จุดนี้เองที่ทำให้ขาดอิสระในการเลือกเทคโนโลยีและเครื่องมือที่ต้องการ การใส่ฟังชั่นเพิ่มเติมและการแก้ไขก็จะถูกจำกัดไปด้วย ทำให้ประสบการณ์เลือกซื้อสินค้าของลูกค้าไม่มีการ customization ได้ง่ายหรือทำให้การเพิ่ม personalization ต้องแก้ไขโค้ดเยอะทั้งส่วน Front end และ Back end

Headless E-Commerce คืออะไร

Headless E-Commerce คือ การที่โครงสร้างของเว็บ E-Commerce สามารถแยกการทำงานของ Front end กับ Back end โดยที่ไม่ส่งผลต่อกันได้ ทำให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นในการพัตนาเว็บไซต์ไปในทางที่ต้องการ และเสริมสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า

ระบบหลังบ้าน หรือ Backend เป็นส่วนที่มีการคำนวณราคาสินค้า การจัดการโครงสร้างพื้นฐาน การรักษาความปลอดภัย ระบบจ่ายเงินเป็นต้น

ระบบหน้าบ้าน หรือ Front end จะเป็นส่วนที่ผู้ใช้งานมองเห็นทั้งหมด ซึ่งรวมถึง User Interface อย่างเช่น ตัวอักษร รูป กราฟ ตาราง หรือปุ่มกด บนเว็บไซต์ social media แอปพลิเคชั่น หรือแม้แต่อุปกรณ์ IoT

การทำงานของ Front end (Head) จะถูกแยกออกจากการทำงานของ Back end อย่างสมบูรณ์ จึงกลายมาเป็น Headless E-Commerce ตรงตามชื่อ

Caption: เปรียบเทียบ E-Commerce แบบดั้งเดิม กับ Headless E-Commerce

จากรูปจะเห็นได้ว่า แพลตฟอร์ม E-Commerce แบบดั้งเดิมนั้น จะตรงกันข้ามกับแบบ Headless นั่นก็คือส่วนหัวจะติดกับส่วนหลังบ้าน ทุกอย่างจะถูกออกแบบมาก่อนแล้วใน front end เพื่อให้เข้ากันและเชื่อมต่อกับ back end ได้อย่างสมบูรณ์ 

จุดสำคัญของแพลตฟอร์มแบบ Headless นั้นคือการนำ API (Application Program Interface) เข้ามาใช้งาน ซึ่งจะเป็นตัวเชื่อมระหว่าง front end และ back end คอยส่งข้อมูลแบบ real time

ข้อดีของ Headless E-Commerce

ข้อดีหลักของ headless E-Commerce คือความเร็ว เนื่องจาก front end แยกออกจากกัน back end ทำให้สามารถโหลดได้อย่างอิสระ และควบคุมประสิทธิภาพของแต่ละฝั่งได้อย่างดีเยี่ยม

นอกจากนี้ยังตอบสนองต่อการเปลียนแปลงได้ทันที เช่น มีการออกสินค้าตัวใหม่ หรือคอนเทนต์ใหม่บน front end เราสามารถทำการอัพเดทได้ทันที ผู้ใช้งานก็สามารถสัมผัสประสบการณ์หรือเนื้อหาใหม่ล่าสุดที่อยู่บนแพลตฟอร์มได้เลย ในขณะที่รูปแบบดั้งเดิมนั้นอาจจะใช้เวลาในระดับนาที ถึงชั่วโมงในการอัพเดท

Developer สามารถควบคุมทุกองค์ประกอบที่ใช้งานได้ง่ายมากขึ้น แบรนด์สามารถเพิ่มคอนเทนต์ลงไปได้อย่างสร้างสรรค์และไม่ต้องมานั่งกังวลว่าเว็บไซต์จะมีรูปแบบการดูไม่เข้ากับอุปกรณ์ต่างๆ เช่น UI ออกแบบมาพอดีกับการใช้งานในมือถือ แต่ใช้บน iPad แล้วไม่ลงตัว

เทคโนโลยีในการสร้าง Headless E-Commerce

การสร้าง Headless E-Commerce แพลตฟอร์มนั้นมีหลายวิธีด้วยกัน วิธีที่ง่ายที่เราจะนำเสนอในวันนี้คือเปิดใช้งานผ่าน GCP (Google Cloud Platform) 

เริ่มต้นง่ายๆโดยทำตามสองขั้นตอน

1. สร้าง Front end: Deploy Front end ผ่านได้ทั้ง Cloud Shell หรือ Cloud Run ซึ่งเป็นการสร้างแพลตฟอร์มบน Serverless container ทำให้ไม่ต้องกังวลเรื่องปริมาณผู้ใช้งานที่เข้ามาเพราะระบบจะทำการสเกลขึ้นหรือลงให้โดยอัตโนมัติ

เมื่อมี Front end แพลตฟอร์มสวยงามให้ผู้ใช้งานเข้าชมแล้ว แล้วก็มาคอนเน็ค Back end กันโดยใช้ Back end API ที่สร้างไว้ล่วงหน้าแล้ว

2. สร้าง Back end: เข้าไปใน Google Cloud Markeplace ซึ่งเป็นแหล่งรวมบริการ Cloud ออนไลน์เอาไว้ให้ผู้ใช้งานเข้ามาค้นหาบริการที่ต้องการแล้วซื้อนำไปใช้ได้ทันที จากนั้นค้นหาบริการ Commercetools Platform กด subscribe แล้วสร้าง account ได้เลย

เมื่อคอนเน็ค Front end กับ Back end ผ่าน Client API แล้ว บริการจะปรากฎบน console ทันที

เราสามารถเห็นทุกอย่างที่เข้ามาใน Back end ได้ เช่น สินค้าบนเว็บไซต์ หมวดหมู่ต่างๆ ลูกค้า รายการสั่งสินค้าที่เข้ามา และอื่นๆอีกมากมาย

เพียงเท่านี้ Headless E-Commerce แพลตฟอร์มก็เสร็จสมบูรณ์พร้อมใช้งาน หากองค์กรของคุณกำลังตามหาระบบและบริการที่รองรับการเติบโตขององค์กร หรือต้องการที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีเกี่ยวกับ Headless E-Commerce ดาต้า และ Google Cloud สามารถ ติดต่อพูดคุยกับทีมงาน CloudHM ได้เลยนะคะ

สำหรับในโอกาสหน้า เราจะหาบริการที่น่าสนใจมาเล่าให้ฟังกันอีกนะคะ

— Cloud HM