Amazon EC2 เลือกวิธีจ่ายเงินอย่างไร? ให้ประหยัดและคุ้มค่า

สวัสดีครับชาว IT กลับมาพบกันอีกครั้งกับ Cloud HM Blog สำหรับวันนี้เราไปดูเกี่ยวกับ Global Cloud กันบ้าง เรื่องที่จะดูคือวิธีการจ่ายเงินเพื่อใช้บริการเช่า Server ของ AWS ครับ บริการเช่า Server ที่ว่าคือบริการที่ชื่อว่า Amazon Elastic Compute Cloud (EC2) แต่ก่อนที่จะลงรายละเอียดว่ามีการจ่ายเงินแบบไหนบ้าง เรามาดูรายละเอียดเบื้องต้นของบริการกันก่อนครับ

Amazon EC2 คืออะไร?


บริการ Elastic Compute Cloud หรือ EC2 เป็นบริการ Infrastructure as a Service (IaaS) ซึ่ง AWS จะให้เราเข้าไปใช้ Server ได้ตามความต้องการ โดยเราสามารถเลือกขนาดของ Instance (Server) ได้ตาม Catalog ที่ AWS จัดไว้ให้ (สำหรับรายละเอียดของ Instance Type เดี๋ยวผมจะแยกออกมาเขียนเป็นอีก Blog นึงนะครับ) ซึ่งบริการ EC2 เป็นที่นิยมมากเนื่องจากผู้ใช้งานสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการทำ Website, Database, Application และอื่น ๆ อีกมากมาย สำหรับการจ่ายเงิน หลายคนที่ยังไม่เคยได้ใช้งานจริง ๆ จัง ๆ อาจจะทราบว่าต้องผูกบัตรเครดิตและจ่ายเงินเป็นรายชั่วโมงใช่ไหมครับ? ก็ถูกต้องตามที่ยกมาครับ แต่ที่จริงแล้ว การใช้งาน EC2 จะมีวิธีที่จ่ายเงินมากถึง 5 แบบ และมีแบบที่ไม่ต้องจ่ายเงินด้วย เรียกว่า Free Tier ครับ

Free Tier คืออะไร?


เป็นเงื่อนไขของ AWS ที่ทำให้เราสามารถใช้บริการ EC2 ด้วย Instance ขนาดเล็ก (t2.micro) ทั้ง Windows และ Linuxs เป็นระยะเวลาทั้งหมด 750 ชั่วโมงต่อเดือนเป็นระยะเวลา 1 ปี (สำหรับ Region ที่ไม่มี Instance type t2.micro จะเป็น t3.micro แทน) วิธีนี้จะเหมาะสำหรับผู้ที่อยากลองทดสอบระบบของ AWS ซึ่ง Free tier ก็ไม่ได้แค่ไว้สำหรับบริการ EC2 เพียงอย่างเดียว ยังมีเงื่อนไขให้กับบริการอื่น ๆ ด้วย ท่านสามารถตรวจสอบบริการที่ต้องการใช้งานแบบ Free tier เพิ่มเติมได้ที่ Link นี้ครับ
เรากลับไปดูแบบเสียตังค์กันบ้างดีกว่าครับ


วิธีการจ่ายเงินของบริการ EC2 มีอยู่ด้วยกัน 5 แบบ อะไรบ้าง?

  1. On-Demand เป็นการจ่ายเงินแบบตามการใช้งานจริงคิดเป็นรายชั่วโมง หรือจะคิดเป็นแบบวินาทีก็ได้ขึ้นอยู่กับ Instance ที่ใช้งาน การจ่ายแบบนี้เป็นที่รู้จักของหลาย ๆ คน การใช้แบบนี้จะไม่มีเงื่อนไขผูกมัด และก็ไม่ต้องจ่ายเงินก่อนที่จะใช้งาน อีกทั้งยังสามารถเพิ่ม/ลด ขนาดของ Instance ได้ตามความต้องการของ Application และราคาก็จะปรับตามขนาดของ Instance นั่นเอง

On-Demand เหมาะกับใครและการใช้งานแบบไหน?

  • เหมาะกับผู้ไม่ต้องการจ่ายแพง และในการใช้งานอาจมีการเปลี่ยนแปลง Spec ของ Server อยู่บ้าง
  • ไม่ต้องจ่ายเงินก่อนใช้บริการ และไม่ผูกมัดเป็นสัญญา
  • เหมาะกับการใช้งาน Application ที่เปิดใช้งานเป็นระยะเวลาสั้น ๆ, มี Performance ที่ไม่คงที่ หรือไม่สามารถคาดเดา Workload ได้ ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบดังกล่าวได้
  • เหมาะกับผู้ที่ต้องการนำ Application ไปพัฒนาหรือทดสอบบน EC2 เป็นครั้งแรก
  1. Spot Instances เป็นการจ่ายเงินที่ลูกค้าสามารถ Request EC2 Instance ที่ว่างอยู่ของ AWS ที่ยังไม่โดนซื้อไปใช้งานได้ โดยสามารถกดราคาได้ถูกว่าแบบ On-Demand ถึง 90% ราคา Spot จะเปลี่ยนแปลงได้ตลอดซึ่งเราสามารถกำหนดราคาที่เรายอมจ่ายได้ว่าอยู่ที่ราคาเท่าไหร่ เช่น ราคา Spot อยู่ที่ $0.0049 ต่อชั่วโมง เราใส่ราคาไว้ให้ยอมจ่ายได้มากสุด $0.01 ต่อชั่วโมง ถ้าราคา Spot เปลี่ยนไปจนเยอะกว่า $0.01 ต่อชั่วโมง Instance ที่สร้างไว้อาจจะถูก Hibernate ได้ และถึงแม้เราว่าจะใส่ราคาไว้เท่ากับ On-Demand ก็มีโอกาสโดนปิดเครื่องอยู่ดีครับ

Spot เหมาะกับใครและการใช้งานแบบไหน?

  • Application ที่มีความยืดหยุ่นในการใช้งานสามารถโดนหยุดระหว่างการใช้งานได้
  • Application ที่ลูกค้ามองว่าไม่จำเป็นต้องจ่ายค่า Compute แพง ๆ ในการใช้งาน
  • ผู้ที่ต้องการใช้งาน Compute เพิ่มเติมเป็นการเร่งด่วนนอกเหนือจากที่ใช้งานอยู่
  1. Reserved Instances เป็นการจ่ายเงินที่ลดราคาลงไปได้มากถึง 72% เทียบกับแบบ On-Demand แต่มีข้อแม้ว่า Reserved Instances (RIs) จะต้องมีสัญญาจ่ายเงินเป็นแบบรายปี หรือ 3 ปี และจะต้องผูกกับ Availability Zone 1 ที่เท่านั้น แล้วทาง AWS จะจองพื้นที่ให้คุณสามารถใช้งานได้ หรือถ้าจะให้ใช้ได้กับทุก Availability Zone ก็สามารถสร้างได้ แต่ AWS จะไม่ได้ Reserved Capacity ให้ โดยคุณสามารถจะเปลี่ยน Instance Families, ชนิดของ Operating Systems ได้ตามต้องการ และการจ่ายเงินแบบ RIs ยังแบ่งย่อยออกเป็นอีก 3 ประเภท ได้แก่

3.1 Standard RIs – แบบนี้จะได้ส่วนลดเยอะที่สุด 72% เทียบกับแบบ On-Demand เหมาะสำหรับการใช้งานกับ Workload ที่ค่อนข้างเสถียร  (Fixed Instance type)
3.2 Convertible RIs – แบบนี้จะได้ส่วนลดมากสุดที่ 54% เทียบกับแบบ On-Demand แบบนี้ต่างจาก Standard RIs ตรงที่สามารถเปลี่ยน Instance type ได้โดยที่ Spec จะต้องมากกว่าหรือเท่ากับของเดิมที่เคยซื้อ RIs ไว้ เหมาะสำหรับการใช้งานกับ Workload ที่ค่อนข้างเสถียรเช่นกัน
3.3 Scheduled RIs – การใช้งานแบบนี้จะเป็นการจองราคา Discount ของ Instance ตามช่วงเวลาที่เราต้องการ การใช้งานแบบนี้จะเหมาะกับลูกค้าที่รู้ว่า Workload มีการใช้งานสูงในช่วงเวลาไหน ในแต่ละวัน, สัปดาห์ หรือเดือน เช่น Web Server ของบริษัทท่องเที่ยวจะมี Workload สูงในช่วง High Season เราสามารถนำ RIs แบบนีมาประยุกต์ใช้ได้

  1. Saving Plans เป็นการจ่ายเงินที่ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากถึง 72% เทียบกับแบบ On-Demand ซึ่งการคิดรูปแบบราคาแบบนี้จะมีการเสนอราคาที่ต่ำกว่า โดยไม่คำนึงถึงขนาด Instances, ชนิดของ Operating Systems หรือ Regions ที่จะใช้งาน และยังสามารถนำไปใช้กับ AWS Fargate และ AWS Lambda ได้อีกด้วย ลักษณะของการคิดเงินจะเหมือนกับแบบ Reserved Instance แต่ต้องแลกมากับข้อตกลงที่คุณจะต้องกำหนดว่าจะใช้จำนวนของ Compute เท่าไหร่ในช่วงเวลา 1 หรือ 3 ปี (คิดเรทราคาจากการใช้เป็นชั่วโมง) โดยสามารถดูราคาที่ต้องจ่ายคร่าว ๆ ได้ที่ AWS Cost Explorer
  1. Dedicated Hosts วิธีนี้ทาง AWS จะ Dedicated physical server ให้คุณใช้บริการ EC2 เลย ซึ่งการใช้แบบนี้จะช่วยให้คุณลดค่าใช้จ่ายในเรื่องของการซื้อ Server และ Software Licenses ต่าง ๆ เช่น Windows Server, SQL Server, SUSE และ อื่น ๆ แน่นอนว่าเป็นไปตามข้อกำหนดในเรื่องของ Compliance

สามารถซื้อได้ 2 แบบ คือ5.1 ซื้อแบบราคา On-Demand (รายชั่วโมง)5.2 ซื้อแบบราคา Reserved ลดสูงสุด 70% เทียบกับราคาของ On-Demand

แถมให้อีกเล็กน้อยกับเรื่องของ Per Second Billingด้วยการใช้งาน Billing แบบ Per Second ลูกค้าจะจ่ายเงินเฉพาะที่ใช้งานจริงเท่านั้น โดยเกณฑ์ในการคิดราคาจะนำจำนวนนาทีและวินาทีที่ไม่ได้ใช้ในรายชั่วโมงออก ทำให้ลูกค้าสามารถเอาเวลาไป Focus กับการพัฒนา Application แทนที่จะต้องมาจ่ายราคาเต็มแบบรายชั่วโมง ซึ่งผู้ที่เหมาะที่จะใช้ประโยชน์ก็จะเป็นคนที่ต้องจัดการ Instance ในช่วงเวลาสั้น ๆ เช่นการ Develop, การทดสอบ, การประมวลผลข้อมูล, การวิเคราะห์ข้อมูล และการทำ Game เป็นต้น
จบกันไปแล้วสำหรับวิธีการจ่ายเงินแบบต่าง ๆ ของ Amazon EC2 หวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้งานไม่มากก็น้อยขอบคุณครับ

หากสนใจใช้บริการ AWS สามารถติดต่อได้ที่นี่ จ่ายค่าบริการผ่าน Cloud HM ได้ทันที โดยจะได้รับใบกำกับภาษี และ Credit Term

หรือสนใจบริการ Cloud ในไทย แต่ยังไม่แน่ใจว่าใช้ Cloud Server ที่ไหนดี ก็ติดต่อสอบถาม Cloud HM ได้เช่นกัน

หมายเหตุ: Blog นี้เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัว  อาจมีข้อผิดพลาด หรือการเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสมครับ

— Cloud HM