Blockchain คืออะไร มีหลักการทำงานอย่างไร?

11,606
11,606

สวัสดีครับ เพื่อน ๆ ชาว IT วันนี้กลับมากันอีกครั้งกับ Blog ของ Cloud HM นะครับ สำหรับหัวข้อในวันนี้เรามาคุยกันในเรื่องของเทคโนโลยีที่มีกระแสมาแรงในช่วง 2-3 ปี มานี้กันครับ นั่นก็คือเทคโนโลยี Blockchain นั่นเอง หลาย ๆ ท่านเคยได้ยินกันมาอย่างคุ้นหูแต่อาจจะไม่ได้ลงรายละเอียดกันสักเท่าไหร่ เดี๋ยววันนี้ผมจะมาขอสรุปให้เข้าใจง่าย ๆ ใน Blog นี้กันครับ*ป.ล.  ผู้เขียนไม่ได้เป็นมืออาชีพในเรื่องรายละเอียดของหลักการทำงานอย่างแท้จริง เป็นการศึกษาจากการอ่านและสรุปบทความตามความเข้าใจของผู้เขียนเอง ซึ่งหากท่านใดมีความรู้ในเรื่องนี้อย่างแท้จริง สามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมได้ที่ Facebook Post ด้านล่างนะครับ*

Blockchain คืออะไร?

หลาย ๆ คนมองว่า Blockchain ดูแล้วน่าจะเข้าใจยาก จริง ๆ แล้วก็ยากแหละครับ แต่ Concept จริง ๆ ของมันค่อนข้างที่จะเรียบร้อยครับ โดยให้เรามองว่า Blockchain ก็เป็นเหมือนกับ Database ชนิดนึงแหละครับ ก่อนที่เราจะเข้าใจ Blockchain ได้ เราก็ต้องเข้าใจว่า Database คืออะไรกันก่อนนะครับ

Database หรือแปลเป็นไทยตรง ๆ ว่าฐานข้อมูล เป็นที่ ๆ ใช้เก็บข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ที่อยู่บนระบบคอมพิวเตอร์ครับ โดยข้อมูลจะถูกเก็บอยู่ในรูปแบบของโครงสร้างที่เป็นแบบตารางเพื่อช่วยให้ง่ายต่อการค้นหาและการกรองเพื่อหาข้อมูลในภายหลังครับ ที่นี้หลาย ๆ คนอาจจะมีคำถามว่าแล้วพวก Spreadsheet เช่น Google Sheet หรือ Microsoft Excel ไม่เรียกว่า Database หรอ?


Spreadsheet ออกแบบมาเพื่อให้ใช้งานสำหรับคน 1 คน หรือเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ที่มีการจำกัดจำนวนในการเข้าถึงข้อมูลครับ ในทางกลับกัน Database มีการออกแบบไว้รองรับกับการเก็บข้อมูลที่มีปริมาณมหาศาลที่สามารถเข้าถึงได้ สามารถกรองข้อมูลได้ และสามารถจัดการบริหารข้อมูลเป็นจำนวนมาก ๆ ได้ โดยที่มีจำนวนผู้ใช้งานหลาย ๆ คนได้พร้อมกันครับ

Database ที่มีขนาดใหญ่ที่ใช้เก็บข้อมูลปริมาณมหาศาลจะสร้างมาจาก Server ที่มีพลังในการประมวลผลสูง ซึ่งอาจจะใช้เป็นร้อยเป็นพัน Server ในการที่จะรองรับผู้ใช้งานหลาย ๆ คน ในเวลาเดียวกัน ซึ่งทั้ง Spreadsheet และ Database ใคร ๆ ก็เข้าถึงได้ถ้ามีสิทธิ์ในการเข้าถึง โดยสิทธิ์จะกำหนดโดยเจ้าของข้อมูลนั่นเองครับ


แล้ว Blockchain กับ Database ต่างกันอย่างไร?

สิ่งที่ทำให้ Blockchain แตกต่างจาก Database ทั่ว ๆ ไปคือโครงสร้างในการจัดเก็บข้อมูลครับ สำหรับ Blockchain จะมีการเก็บข้อมูลเอาไว้ด้วยกันเป็นแบบกลุ่ม หรือที่เราเรียกกันว่า Block ซึ่งมัดรวมข้อมูลเข้าไว้ด้วยกันเป็นชุด  โดยตัวของ Block เองก็จะมีพื้นที่จัดเก็บข้อมูลภายในตัวของมัน และเมื่อมีการใส่ข้อมูลไปแล้ว จะมีการนำ Block ไปเชื่อมต่อกับ Block ก่อนหน้ามีลักษณะเป็นโซ่ที่เชื่อมต่อกันจนกลายเป็น ข้อมูลที่เชื่อมต่อกัน หรือที่เรารู้จักกันคือ Blockchain นั่นเอง โดยหากมีข้อมูลใหม่ ๆ เพิ่มเข้ามาใน Block แล้ว Block ก็จะทำการสร้าง Chain เพิ่มเชื่อมต่อกับ Block ก่อนหน้าครับ

สำหรับโครงสร้างของ Database จะมีการนำข้อมูลไปเก็บอยู่ในรูปแบบตารางแตกต่างจาก Blockchain ที่ใช้การเก็บ Data ในรูปแบบของ Block ที่ผูกเข้าไว้ด้วยกัน ทำให้เราสามารถนิยามได้ว่า Blockchain ทุกชนิดคือ Database (ฐานข้อมูล) แต่ไม่ใช่ว่า Database ทุกอันจะเป็น Blockchain ครับ ซึ่งระบบ Blockchain จะเป็นระบบที่ไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขข้อมูลได้ โดยเมื่อมีการใส่ข้อมูลลงไปใน Block แล้ว Block อื่น ๆ ที่เชื่อมต่ออยู่แผนใน Chain ก็จะลงบันทึกเวลาไว้นั่นเองครับ

หลักการของ Decentralization คืออะไร?

การที่จะเข้าใจ Blockchain ได้นั้นเรามาดูวิธีการที่เค้าใช้ทำระบบการทำงานของ Bitcoin กันเป็นตัวอย่างนะครับ เช่นเดียวกับ Database ตัว Bitcoin จำเป็นที่จะต้องใช้คอมพิวเตอร์หลาย ๆ เครื่องในการเก็บ Blockchain ของตัวมัน ซึ่ง Blockchain ตัวนี้จะเป็น Database เฉพาะที่ใช้สำหรับเก็บ Transaction ที่ Bitcoin เป็นผู้ที่ทำธุรกรรมเท่านั้น ซึ่งโดยปกติถ้าเราเทียบกับ Database ทั่ว ๆ ไปที่ใช้งานกันในองค์กร ส่วนใหญ่จะมีการเก็บข้อมูลอยู่ใน Server หรือ  Cluster Server ที่มีเจ้าของเดียวกัน แต่กรณีของ Bitcoin คอมพิวเตอร์ที่ใช้เก็บข้อมูลจะเป็นของใครก็ได้ถ้ายังไม่เห็นภาพ ลองมโนภาพตามนี้ก็ได้ครับ สมมติว่าบริษัท ๆ หนึ่ง เป็นเจ้า Server ประมาณ 10,000 เครื่อง ที่มี Database ใช้เก็บข้อมูลของลูกค้าทั้งหมดอยู่ บริษัทนี้เป็นเจ้าของ Server ที่ว่าแต่เพียงผู้เดียวและมีสิทธิ์ในการควบคุมและจัดการ Server และข้อมูลทั้งหมด เมื่อมาเทียบกับ Bitcoin แล้ว ก็มีการใช้งาน Server หรือคอมพิวเตอร์เป็นหมื่น หรืออาจจะเป็นแสนเครื่องเหมือนกัน แต่คอมพิวเตอร์นั้นไม่จำเป็นที่จะต้องอยู่ในสถานที่ที่ใกล้เคียงกัน อาจจะต่างกันภูมิภาคกันก็ได้ โดยเราจะเรียกคอมพิวเตอร์ที่ทำให้เกิดโครงข่ายของ Bitcoin ขึ้นมาว่า Node ครับ

Blockchain แต่ละ Node จะมีจำนวน Record ที่เก็บไว้ใน Blockchain ตั้งแต่เริ่มการทำงาน สำหรับ Bitcoin แล้ว ข้อมูลที่มีอยู่จะเป็นธุรกรรมที่เกี่ยวกับ Bitcoin ทั้งหมด ซึ่งถ้า Node ใด Node หนึ่งเกิด Error ขึ้นมา มันสามารถนำข้อมูลจาก Node อื่น ๆ อีกเป็นพัน ๆ Node มาแก้ไขข้อมูลของตัวเองให้ถูกต้องได้ ด้วยจุด ๆ นี้ทำให้เราบอกได้ว่า เราไม่สามารถใช้ Node เพียงไม่กี่ Node ในการแก้ไขข้อมูลเพื่อให้กระทบกับ Transaction Record โดยรวมทั้งหมดได้ ซึ่งแปลว่าแก้ไข หรือบิดเบือนข้อมูลได้ยากนั่นเอง


ถ้ามีใครคนใดคนหนึ่งอยากที่จะเจาะระบบของ Bitcoin transaction record จะต้องทำให้ทุก Node มีข้อมูลชุดเดียวกันให้ได้ ซึ่งทำได้ยากมาก ๆ ทำให้ระบบมีความโปร่งใสในทุก ๆ ธุรกรรมที่เกิดขึ้น  ซึ่งจากแนวคิดของ Bitcoin แล้วเราสามารถนำไอเดียนี้ไปใช้กับการจัดเก็บข้อมูลอื่น ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นสัญญาทางกฎหมาย, ID Card หรือคลังสินค้าของบริษัทแต่ก็ใช่ว่าระบบนี้จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้นะครับ การที่จะเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้นั่น ระบบจะต้องเห็นพ้องร่วมกันว่าข้อมูลนี้ต้องเปลี่ยน โดยมองจาก Transaction จะต้องเหมือนกัน 51% ขึ้นไป

ฉะนั้น Decentralization ถ้าแปลแบบภาษาชาวบ้าน ๆ ก็คือ ไม่มีศูนย์กลางในการควบคุม ทุกคนที่ทำธุรกรรมจะได้รับข้อมูลชุด ๆ เดียวกัน ทำให้ผู้ไม่ประสงค์ดีสามารถโจมตีได้ยากเพราะจะต้องบิดเบือนข้อมูลธุรกรรมนั้นให้มากกว่า 51% ของข้อมูลที่มี

เอา Blockchain ไปใช้กับอะไรได้บ้าง?

อย่างที่ได้เกริ่นไปก่อนหน้านี้ว่า Bitcoin ใช้ Blockchain ในการเก็บข้อมูลของธุรกรรมทั้งหมด และ Blockchain เองก็ยังสามารถจะเก็บข้อมูลแบบอื่น ๆ ได้เหมือนกันทำให้บางบริษัทก็เริ่มมีการพัฒนา Blockchain ของตัวเอง เช่น Walmart, Pfizer, AIG, Siemens, Unilever และบริษัทอื่น ๆ  เช่น IBM ได้มีการพัฒนา Food Trust blockchain1 ขึ้นมาเพื่อ Track location ที่มาของอาหาร


แล้วทำไมถึงต้องทำด้วย? บริษัทที่ทำเกี่ยวกับอาหารจะเสี่ยงที่จะพบกับโรคที่ปะปนมากับอาหารแล้วส่งต่อไปให้ผู้บริโภคโดยมีตัวการมากจากไวรัส หรือแบคทีเรีย เช่น E. coli, Salmonella, Listeria และสารอันตรายอื่น ๆ ที่ไม่ควรปะปนมากับอาหาร การที่ทำแบบนี้จะช่วยให้สามารถลดปัญหาด้านสุขภาพและการเจ็บป่วยขณะที่บริโภคได้นั่นเองครับ

การใช้ Blockchain จะช่วยให้ Brand นั่นสามารถ Track ติดตามอาหารได้ว่ามีต้นทางมาจากที่ไหน ขนส่งไปเก็บไว้ตรงไหน ก่อนที่จะส่งไปยังปลายทางให้ผู้บริโภค ทำให้เราสามารถระบุปัญหาได้อย่างคลอบคลุมหากเราตรวจเจอว่าจุด ๆ นี้เป็นต้นเหตุครับ จริง ๆ เรายังสามารถใช้ประโยชน์จาก Blockchain ได้อีกมากเช่น

ด้านธนาคารและการเงิน

อุตสาหกรรมนี้เป็นอันดับแรกเลย หากพูดถึง Blockchain ยกตัวอย่างการใช้งานคือ การฝากเช็คในช่วงเวลาทำการของธนาคาร ถ้าคุณไปฝากวันศุกร์ก่อนที่ธนาคารจะปิด คุณต้องรอธนาคารเปิดในวันจันทร์ก่อนที่เงินจะเข้าบัญชี ซึ่งปกติถ้าเป็นการฝากเช็คก็จะใช้เวลาตรวจสอบประมาณ 1 วันทำการ
แต่ถ้ามีการเอา Blockchain มาใช้ร่วมด้วย ผู้ใช้บริการจะใช้เวลาที่สั้นลงในการทำธุรกรรม เนื่องจากธนาคารสามารถที่จะแลกเปลี่ยนธุรกรรมระหว่างสถาบันการเงิน หรือ ผู้ที่ออกเช็คอื่น ๆ ได้อย่างรวดเร็วเพราะมีข้อมูลของเจ้านั่นอยู่แล้ว ทำให้ลูกค้าไม่ต้องเอาเงินไปจมระหว่างทางที่รอธุรกรรมดำเนินการเสร็จ (แต่บ้านเราเป็นประเทศที่มีการใช้ Mobile Banking ติดอันดับโลกอยู่แล้ว ทำให้ผมมองว่าปัญหานี้อาจจะกระทบกับผู้ใช้งานบางส่วนเท่านั้นครับ)


ด้านสกุลเงิน

เทคโนโลยี Blockchain เกิดขึ้นมาจากการพัฒนา Bitcoin ซึ่งเป็น Cryptocurrency เงิน US Dollar ของสหรัฐอเมริกามีการควบคุมโดยรัฐบาลกลาง ด้วยการควบคุมแบบส่วนกลาง ข้อมูลของผู้ใช้งานจะผูกติดอยู่กับธนาคารและรัฐบาล ซึ่งถ้าผู้ใช้บริการถูก Hack ขึ้นมา ข้อมูลลับต่าง ๆ ก็มีความสุ่มเสี่ยงที่จะโดนขโมยได้ โดยถ้าผู้ใช้งานอยู่ในประเทศที่มีรัฐบาลที่ไม่ค่อยมีเสถียรภาพก็อาจจะมีปัญหาในเรื่องของค่าเงินได้
ด้วยการกระจายการทำงานของคอมพิวเตอร์หลาย  ๆ เครื่อง Blockchain ทำให้ Bitcoin และเหรียญ Crypto อื่น ๆ ไม่จำเป็นต้องใช้ศูนย์กลางในการควบคุมธุรกรรมซึ่งไม่ได้แค่ช่วยความเสี่ยงในการธุรกรรม แต่ยังช่วยลดกระบวนการรวมไปถึงค่าธรรมเนียมที่ต้องเสียในระหว่างทำธุรกรรมด้วย ช่วยให้ประเทศที่มีค่าเงินที่ไม่เสถียรสามารถใช้สกุลเงินดิจิตอลในการทำธุรกรรมได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศนั่นเองครับ
แต่ก็มีบางประเทศที่ยังไม่ยอมรับกับการทำธุรกรรมแบบนี้เพราะไม่สามารถระบุตัวตนได้ บางครั้งอาจจะเสี่ยงต่อการฟอกเงินได้

ด้านสาธารณสุข

ในด้านนี้เราสามารถใช้ Blockchain มาช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการเก็บข้อมูลทางการแพทย์ของผู้ป่วยได้ โดยเมื่อมีการบันทึกข้อมูลของผู้ป่วยและเซ็นรับรองแล้ว ข้อมูลจะเขียนลงไปใน Blockchain ทำให้ผู้ป่วยสามารถใช้ข้อมูลนี้อ้างอิงสถานะปัจจุบันได้อย่างมั่นใจเพราะข้อมูลจะไม่สามารถแก้ไขได้ โดยผู้ที่สามารถดูข้อมูลได้จะต้องมี Key ในการเข้าถึง เพื่อเป็นป้องกันความเป็นส่วนตัวของข้อมูลครับ

ด้านการลงบันทึกทรัพย์สิน

ถ้าคุณเคยเสียเวลาไปกับการที่ต้องไปที่สำนักงานในพื้นที่เพื่อเดินเรื่องเกี่ยวกับทรัพย์สินหรือที่ดินของตัวเอง ทุกวันนี้การที่ต้องจัดการแบบ Manual โดยให้เจ้าหน้าที่กรอกข้อมูลเพื่อเก็บใน Database นั่นจะค่อนข้างช้าไปแล้วครับ นอกจากเสียค่าใช้จ่ายแล้ว ยังเสียเวลาในการดำเนินการรวมไปถึงอาจจะเกิด Human Error ในการบันทึกข้อมูลได้ (ไม่ได้เจตนาจะโจมตีฝ่ายไหนนะครับ ทุกคนเป็นมนุษย์เรามีความผิดพลาดเป็นเรื่องธรรมดา ตัวผมเองก็มี) ซึ่งอาจทำให้ตรวจสอบข้อมูลที่มีอยู่ได้ช้ากว่าเดิม การนำเอา Blockchain มาใช้จะช่วยตัดปัญหาทุกอย่าง เช่น เรื่องของการ Scan เอกสาร การหาเอกสารที่อยู่ในตู้เก็บของในสำนักงาน ซึ่งถ้าใบบันทึกทรัพย์สินของเราเก็บไว้ใน Blockchain ที่มีการ Verified แล้ว จะทำให้เรามั่นใจได้ว่าข้อมูลของเราถูกต้องและมีการบันทึกไว้เป็นถาวรแล้วนั่นเองครับ
โดยในบางประเทศ อาจจะไม่ได้มีสิ่งอำนวยความสะดวก หรือ สามารถเข้าถึงสถานที่ที่ใช้ดำเนินการได้ยาก จะเป็นการยากที่เจ้าของทรัพย์สินหรือที่ดินจะสามารถเดินทางไปได้ เราก็ใช้เจ้า Blockchain ตัวนี้ในการบันทึกก็ได้ครับ

การลงคะแนนเสียงสำหรับการเลือกตั้ง

การเอา Blockchain มาช่วยในการจัดการเรื่องการลงคะแนนเสียงจะช่วยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในแง่ของการลดทอนจากการโกงผลโหวต หรือพฤติกรรมอื่น ๆ ที่มีผลต่อคะแนนเสียงครับ โดยตัวอย่างที่มีการใช้งานจริงมาแล้ว ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2018 ในการเลือกตั้งที่รัฐ West Virginia ของสหรัฐอเมริกา ได้ใช้ Blockchain ในการโหวต ด้วยการแจก Token (เหรียญ) ให้กับผู้ที่คะแนนเสียง ตามจำนวนประชากรจริงในการโหวต ซึ่งเหรียญดังกล่าวไม่สามารถปลอมแปลมได้ ทำให้ผลลัพธ์ที่ได้มีความโปร่งใสนั่นเอง แต่นี้ก็เป็นเพียงแค่ไอเดียเท่านั้น เพราะว่าหลังจากนั้นรัฐนี้ก็ได้มีการยกเลิกไปเพราะว่าผู้พัฒนาพบช่องโหว่ในการให้บริการผ่าน Application ซึ่งหากจะต้องใช้งานจริง ก็ต้องพัฒนากันต่อไป แต่ถือว่าเป็นไอเดียที่น่าสนใจเลยล่ะครับ

ข้อดีของ Blockchain

  • ช่วยพัฒนาความแม่นยำในการทำธุรกรรมต่าง ๆ โดยลดขั้นตอนในการใช้คนมาช่วยตรวจสอบ
  • ลดค่าใช่จ่ายในการไม่ต้องตรวจสอบซ้ำซ้อนจากบุคคลภายนอก
  • Decentralization ช่วยให้ปลอดภัยต่อการดัดแปลงและแก้ไขข้อมูล
  • ธุรกรรมที่ทำมีความปลอดภัย, เป็นส่วนตัว และมีประสิทธิภาพ
  • เป็นทางเลือกในการทำธุรกรรมเกี่ยวกับด้านการเงินในกรณีที่ไม่มั่นใจในเสถียรภาพของประเทศ

ข้อเสียของ Blockchain

  • มีการใช้ในการฟอกเงิน
  • ธุรกรรมทำได้ช้า (แต่ในปัจจุบันได้มีการพัฒนามากขึ้นแล้ว)
  • ไม่มีระเบียบข้อบังคับในการใช้งาน

เป็นอย่างไรกันบ้างครับกับ Blog แนว ๆ นี้ หวังว่าจะมีท่านไหนที่สนใจสามารถนำไอเดียไปใช้ต่อได้นะครับ Blog หน้าจะเป็นหัวข้ออะไร น่าสนใจขนาดไหน สามารถติดตามอ่านได้เลยนะครับ สำหรับท่านใดที่สนใจใช้บริการกับ Cloud HM สามารถติดต่อได้ที่นี่นะครับ

— Cloud HM