สวัสดีครับ ชาว IT ทุกท่าน หลาย ๆ ท่านที่ทำงานในบริษัท แน่นอนว่าต้องมี Server ติดตั้งที่สำนักงานของท่านกันใช่หรือไม่ครับ บางท่านอาจจะไม่ได้ติดตั้งที่สำนักงานก็จะนำ Server ไปติดตั้งไว้ในพื้นที่ให้เช่า ก็แล้วแต่กรณีครับ นึกออกกันแล้วใช่ไหมครับ วันนี้ผมจะมาอธิบายเรื่อง Data Center ให้ทราบเป็นเกร็ดความรู้กันนะครับ เผื่อจะได้เป็นแผนในการไปเช่าพื้นที่ให้เหมาะสมกับงบประมาณที่บริษัทของท่าน ๆ มีครับ เริ่มกันเลยครับ
Data Center คือ สถานที่ที่ใช้ในการวาง Server, อุปกรณ์สื่อสารจำพวก Network, ระบบ Storage เป็นต้น
โดยระบบของ Data Center ต้องมีระบบจ่ายไฟที่เพียงพอต่อการรองรับของ Server หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่มาติดตั้งที่ Data Center, ต้องมีเรื่องของอุณหภูมิที่เหมาะสม การระบายความร้อนต่าง ๆ เพื่อให้อุปกรณ์ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ, ต้องมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลและสังเกตการณ์หากเกิดปัญหากับระบบใน Data Center และต้องมีการป้องกันความเสี่ยงต่ออุปกรณ์ เช่น มีระบบดับเพลิง มีอุปกรณ์สำหรับงัดแงะในกรณีฉุกเฉิน เป็นต้น ทีนี้ก็จะมีข้อสงสัยกันใช่ไหมครับว่าเราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า Data Center ที่เราจะนำอุปกรณ์ไปวางหรือสร้างใช้งานเองในบริษัทจะไว้ใจได้อย่างไร มีความปลอดภัยมากเพียงใด Uptime มีกี่ %
ขออนุญาตขยายความคำว่า “Uptime” เพิ่มเติมเล็กน้อยเผื่อบางท่านอาจจะยังไม่เข้าใจนะครับ
Uptime เป็น % ที่บ่งบอกถึงการทำงานที่เป็นปกติของ Data Center เทียบต่อ 1 ปี Uptime 100% หมายถึงระบบใน Data Center ไม่มีปัญหาในการให้บริการในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นระบบไฟฟ้าหรือระบบระบายอากาศ เป็นต้น ซึ่งในโลกแห่งความเป็นจริง ไม่มีที่ใดสามารถการันตี
Uptime เป็น 100% ได้ มาตรฐานส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 99.XXX% โดย 0.XXX% ที่เหลือ คือ ระยะเวลามากที่สุดที่อุปกรณ์จะเกิด Downtime ต่อปี
ในปัจจุบัน มาตรฐานสำหรับ Data Center จะเรียกว่า Tier แบ่งออกเป็น 4 ระดับ ดังนี้ครับ
Tier I หรือ Tier 1 (Basic Capacity)
เป็น Tier ที่ Basic ที่สุดของ Data Center การเสียหายและความผิดพลาดที่จะเกิดขึ้นจะมีผลกระทบไปทั้งอุปกรณ์และระบบของ Data Center ขณะ Maintenance ระบบ หรือซ่อมแซมอุปกรณ์ที่เสียหายต่าง ๆ Data Center จะได้รับผลกระทบไปด้วย
Data Center แบบนี้ไม่มีพื้นแบบยก (Raised floors) ที่ใช้ระบายอากาศ, ไม่มี Redundant power supplies (ระบบจ่ายไฟฟ้าตัวสำรอง) และไม่มี UPS (ระบบจ่ายไฟฟ้าสำรองกรณี Power supplies ทำงานไม่ได้)
- Uptime 99.671%
- Maximum downtime 1729 นาที หรือ 28 ชั่วโมง 48 นาที/ปี
(Source)
Raised Floor (พื้นยก) – มีพื้นที่ใต้พื้นในการวางสายไฟ หรือ วางระบบปรับอากาศ
Tier II หรือ Tier 2 (Redundant Capacity)
เป็น Tier ที่มีอุปกรณ์สำรองบางส่วนในระบบไฟฟ้า,
ระบบระบายอากาศและระบบทำความเย็น (Partial redundant) ไม่ได้เป็นแบบ Fully redundant เพราะไม่ครอบคลุมระบบทั้งหมด ข้อมูลข้างต้นคือสิ่งที่เพิ่มเติมเข้ามาหากเทียบกับ Tier 1
- Uptime 99.741%
- Maximum downtime 1361.3 นาที หรือ 22 ชั่วโมง 41 นาที 18 วินาที/ปี
(Source)
Electric Generator – เครื่องปั่นไฟสำหรับการใช้งานของ Data Center
Tier III หรือ Tier 3 (Concurrently maintenance DC)
รวมคุณสมบัติทั้งหมดของ Tier 1 และ Tier 2 แต่ในการซ่อมแซมอุปกรณ์ หรือ Maintenance จะไม่กระทบกับการทำงานของ Data Center ก็คือสามารถถอดอุปกรณ์แล้วเปลี่ยนใหม่ได้โดยไม่กระทบนั่นเอง
อุปกรณ์ IT ทั้งหมดใน Data Center จะได้รับไฟฟ้าจาก 2 แหล่ง (Dual power supplies) ที่มี UPS ต่อเข้ากับแต่ละแหล่งแยกออกจากกันโดยสิ้นเชิง ซึ่ง UPS ไม่ได้มีแค่ตัวเดียว ทำให้สามารถเปลี่ยนได้โดยไม่กระทบการทำงานของ Server ระบบ Redundant ของการปรับอากาศก็เช่นกัน เมื่อมีตัวใดตัวหนึ่งเสีย อีกตัวจะทำงานทันที
Tier 3 ไม่ได้มีระบบที่มี 2 ชุดที่สำรองที่แยกกันโดยสมบูรณ์ (Fault Tolerance) เนื่องจากยังคงมีการใช้งานระบบบางจุดร่วมกัน เช่น อาจจะมีระบบไฟฟ้าจาก 2 แหล่งก็จริง แต่มีจุดที่ต้องรวบไปใช้งานร่วมกัน เช่น ระบบทำความเย็นมีแค่ 1 ชุดที่รับไฟฟ้าจาก 2 แหล่ง หากระบบทำความเย็นพังก็จะกระทบกับ Data Center เป็นต้น
- Uptime 99.982%
- Maximum downtime 94.6 นาที หรือ 1 ชั่วโมง 34 นาที 36 วินาที/ปี
(Source)
UPS – เป็นแหล่งพลังงานไฟฟ้าสำรองใช้สำหรับกรณีฉุกเฉิน
Tier IV หรือ Tier 4 (Fault Tolerance)
เป็น Tier สูงสุดของมาตรฐาน Data Center มีระบบที่เป็น Fully redundant มีอุปกรณ์ที่จำเป็นแยก 2 ชุดโดยชัดเจน หมายความว่า อุปกรณ์ IT ทั้งหมดจะได้รับไฟฟ้าจากแหล่งจ่าย 2 แหล่ง แยก Generator กัน มีระบบ UPS 2 ระบบและมีระบบปรับอากาศ 2 ระบบ อีกเช่นกัน ถ้ามีอุปกรณ์ตัวใดตัวหนึ่งเสีย ระบบจะยังคงทำงานได้เป็นปกติ การทำงานของ IT จะกระทบก็ต่อเมื่อระบบไฟฟ้าจาก 2 แหล่งเสียพร้อมกัน หรือระบบปรับอากาศเสียพร้อมกัน
- Uptime 99.995%
- Maximum downtime 26.3 นาที หรือ 26 นาที 18 วินาที/ปี
ตารางเปรียบเทียบ Tier เพื่อความเข้าใจที่ง่ายขึ้น สามารถดูได้ตามตารางด้านล่างครับ
*N ย่อมากจาก Need หมายถึง จำเป็นต้องมี
*N+1 มาจาก N มาจาก Need, +1 มาจากมีระบบสำรองบางส่วน
*2(N+1) หมายถึง มี Need 2 ชุด Fully redundant โดยสมบูรณ์
จากที่ให้ข้อมูลมา ผู้เขียนขอสรุปให้ดังนี้นะครับ
Data Center Tier บ่งบอกถึงความสามารถในการให้บริการ ของ Data Center โดยไม่ติดปัญหา (Uptime) หากบริษัทหรือองค์กรของคุณกำลังมอง Data Center ในการวาง Server มีคำแนะนำดังนี้ครับ
- Uptime guarantee – มีการการันตีที่กี่ % หากเป็นองค์กรที่ไม่ได้ต้อง Run ธุรกิจตลอด 24*7 Tier II น่าจะเพียงพอต่อการใช้งาน
- Performance – ประสิทธิภาพเหมาะสมกับการใช้งานขององค์กรหรือไม่ Facility เป็นอย่างไร การอำนวยความสะดวกในการเข้า Data Center
- Investment – เทียบค่าใช้จ่ายในการวาง Server แล้วแยกเป็น Tier, หากยิ่ง Tier สูง ยิ่งมีราคาแพงขึ้นเนื่องจาก % Uptime ที่สูงขึ้น
- Return on investment (ROI) – หากจะลงทุนทำ Data Center เอง ก็ต้องคิดถึงจุดคุ้มทุน
เป็นอย่างไรกันบ้างครับกับ Blog นี้ มีความคิดเห็นกันอย่างไรบ้างครับ สามารถ Comment ได้เลยนะครับ หากสงสัยเรื่องไหนเกี่ยวกับวงการ IT ก็สามารถ Comment แนะนำมากันได้นะครับ ฝากกด Like กด Share ให้ด้วยนะครับผม
ขอบคุณครับ
หมายเหตุ : Blog นี้เป็นเพียงมุมมองและความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน หากผิดพลาดประการใดก็ขออภัยไว้ ณ ที่นี้ครับ
Source รูปภาพบทความ : https://www.volico.com/what-are-the-major-differences-between-data-center-tiers/
— Cloud HM